ประเด็นร้อน

ปปท.เชือด 563 คดีโกงข้าว รัฐเสียหาย1.47แสนล้าน

โดย ACT โพสเมื่อ May 10,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -


ป.ป.ท. เคาะชงบอร์ด 1 ก.ย.ชี้มูลทุจริตเก็บรักษาข้าวในคลังล็อตแรก 563 คดี เชือดเจ้าหน้าที่รัฐ-เอกชนเอี่ยวทุจริต เรียกชดใช้ค่าเสียหาย 1.47 แสนล้าน ลั่น "เกษียณ" ก็หนีไม่รอด บิ๊ก อ.ต.ก. โดดป้องเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยว อคส.ลั่นฟันแน่หากเกี่ยวข้อง

 

คดีรับจำนำข้าว ในส่วนการทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าที่สร้างความเสียหายกว่า 1.47 แสนล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีการดำเนินงานไต่สวนของคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 รวมระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน สรุปความคืบหน้าเป็นอย่างไรนั้น

 

พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม เร่งรัดสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง 993 คดี แบ่งเป็นขององค์การคลังสินค้า (อคส.) 721 คดี ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)  271 คดี  สถานะของคดีในขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุฯไต่สวนดำเนินคดี และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาในแต่ละคดีแล้ว 563 คดี ส่วน 430 คดี อยู่ในระหว่างการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม

 

"คดีทุจริตเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้ายังคงดำเนินการต่อไป โดยมีคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง 45 คณะ ในพื้นที่ 36 จังหวัด ซึ่งได้ขอให้คณะอนุกรรมการฯเร่งรัดคดี เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ความยากของคดีนี้ เกิดขึ้นมานานแล้ว บางโกดังเป็นคดีที่เก็บรักษาข้าวตั้งแต่ปี 2551ปัญหาในเรื่องพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ตั้งแต่การรับข้าว การเก็บรักษาข้าว รวมทั้งคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคลังสินค้ามีมาก ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงานคือ อ.ต.ก.และอคส. ก็ได้พยายามช่วยเหลือเต็มที่ แต่เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก ซึ่งต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเอกสารมาให้"

 

ส่วนในเรื่องของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องหลายคน มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายที่ทำงาน บางคนโยกย้ายภูมิลำเนา บางคนก็เกษียณอายุข้าราชการไปแล้ว ได้เชิญเข้ามาพบเพื่อให้ถ้อยคำก็อาจจะทำให้มีข้ออุปสรรคขัดข้อง ทั้งในด้านการส่งเอกสาร รวมทั้งต้องให้โอกาสในการฟื้นฟูความจำว่ามีความเกี่ยวข้องเรื่องนี้อย่างไร ในขั้นตอนใด ซึ่งต้องใช้เวลา

 

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนคดีที่ ป.ป.ท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วได้เปิดโอกาสเต็มที่ให้กับผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าคลังสินค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ให้แสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง  เกือบทุกคดีที่เชิญมารับทราบข้อกล่าวหา มักจะขอเลื่อนเพื่อขอรวบรวมพยานหลักฐานก่อน นอกจากมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ระยะเวลาที่นำหลักฐานมาแสดงเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ทางคณะอนุฯ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพื่อเร่งรัดจะเอาผิด แต่เปิดโอกาสให้แสดงความบริสุทธิ์ว่าเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร

 

"ทางคณะอนุกรรมการจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อส่งให้คณะกรรมการหรือบอร์ด ป.ป.ท. ได้พิจารณาในวันที่ 1 กันยายนนี้ จากที่แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 563 คดี  ถ้าคณะกรรมการมีความเห็นว่าในเรื่องนี้มีมูลความผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัยหรืออาญา ถ้าเป็นคดีอาญาจะส่งเรื่องไปให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งทางคณะอัยการจะกลั่นกรองว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟ้องร้องหรือไม่  หากฟ้องร้องจะส่งเรื่องไปยังศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป โทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 อาจทำให้ถูกจำคุก หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/2 มาตรา 123/3 อาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือร้ายแรงสุดๆ ถึงประหารชีวิตได้"

 

ด้านพ.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรงประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.)  กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาได้เชิญทางป.ป.ท.ร่วมประชุมเพื่อเร่งรัดคดี เนื่องจากใช้ระยะเวลานานแล้วที่ผ่านมาทาง อคส.พร้อมที่จะดำเนินคดีลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางวินัยและอาญา ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้าของคดีนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมล่าช้ายังไม่ได้ดำเนินคดีสักรายเลยก็ตอบไม่ได้ ความเห็นส่วนบุคลากร ของป.ป.ท.น่าจะไม่เพียงพอ

 

ขณะที่นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เผยว่า จากคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของอ.ต.ก.กว่า 200 คดี เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท.ที่จะต้องดำเนินการในการที่จะกล่าวโทษในทางอาญาค่อนข้างยุ่งยาก เพราะสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาสำคัญที่สุด

 

"เชื่อว่าคดีนี้ต้องใช้เวลาอีกนาน ความเห็นส่วนตัวยังยืนยันว่าถ้าข้าวหายมีปริมาณที่มีนัย เช่น ข้าวในคลังมีแสนกระสอบ หายไป 2 กระสอบนี่ ผมคิดว่านับผิดพลาดกันได้ เป็นต้นแต่ถ้าข้าวเสียหรือข้าวด้อยคุณภาพ เซอร์เวเยอร์จะต้องรับผิดชอบ เพราะ อ.ต.ก.จ้างเซอร์เวเยอร์ในการตรวจสอบคุณภาพข้าวโดยมีสัญญาผูกมัดให้ชดใช้ค่าเสียหาย ไม่เช่นนั้นจะจ้างไว้ทำไม"

 

 

 

 

 
 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw